การประชุมทางวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ครั้งที่ 2 (The 2nd Thailand Geoparks Network Symposium)
ธรรมชาติ การเกษตรที่สูง การเกษตรทางเลือกและการอยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำลำธารบ้านดงมะไฟ
นพดล ม่วงแก้ว
256 หมู่ 8 กาแฟดงมะไฟ บ้านดงมะไฟ ถนนพระพุทธเจ้า ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 30170 อุทยานธรณีโคราช E-mail nopadolmk@gmail.com
บทคัดย่อ
บ้านดงมะไฟ อยู่บนพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ การเกษตรและการอยู่ร่วมกันของคนและป่านับเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอีกแหล่ง จาก 39 แหล่ง ในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค ตั้งอยู่บนเขาเควสตาด้านลาดตามแนวเท (Dip slope) ชุมชนบ้านดงมะไฟนี้อยู่ใกล้กับแหล่งธรรมะ วัดป่าภูผาสูง มีการปลูกกาแฟอาราบิก้า ที่ได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) การทำเกษตรที่สูง เกษตรทางเลือก สวนผลไม้บ้านดงมะไฟ พืชไม้ยืนต้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จากต้นทุนธรรมชาตินี้ บ้านดงมะไฟที่ระดับความสูง 400 - 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์จากผืนป่า อุณหภูมิกลางวันที่แตกต่างจากกลางคืน ไม่น้อยกว่า 12 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนที่พอเพียงและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ถูกต้อง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและพืชที่เกษตรกรปลูกขึ้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ สอดคล้องกับ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน หมู่บ้านดงมะไฟเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village หรือ CIV) อีกทั้งยังมีพิธีบุญพื้นบ้านรับขวัญ แม่กาแฟ พิธีรำบวงสรวงฉลองชัยชนะท่านท้าวสุรนารีประจำปี พิธีบวงสรวงศาลปู่ตา ประจำหมู่บ้าน เจ้าพ่อทองดำ เทศกาลดื่มกาแฟดงมะไฟ เส้นทางวิ่งออกกำลังกายตามภูมิประเทศ (Dongmafai Trail Run) ในการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านดงมะไฟแห่งนี้ ได้มีการจัดทำบทบัญญัติ 10 ประการ ของหมู่บ้านดงมะไฟ (Master Plan) ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นหมูบ้านแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ส่งเสริมสังคมสงบสุข
คุณงามความดีของเกษตรกรและผู้อยู่อาศัย ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วนั้นเป็นไปในรูปแบบจิตอาสา ประชาอาสาไปในทิศทางเดียวกันตามความถนัดและอัธยาศัย ในรูปแบบของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งตนเอง ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการ ควบคุม ให้คุณให้โทษ ในการปรับวิถีทำการเกษตรพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ อันส่งผลกระทบต่อความล่มสลายของสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 40 ปี มาแล้ว ไม่มีต้นไม้ยืนต้นในแปลงการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวแต่อย่างใด เกษตรกรต้องไถเปิดหน้าดินเพื่อทำการปลูกพืชนั้น เป็นเหตุให้เกิดการชะล้างอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝนของทุกปีซึ่งพัดพาผิวดินและความสมบูรณ์ของดินขาดหายไปอย่างต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด
วิธีการแก้ไข
ข้อที่ 1 ควรจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ในงานของภาคส่วนที่รับผิดชอบ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอสูงเนิน สำนักงานจัดการที่ดินป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา กรมทรัพยากรน้ำภาค 5 จังหวัดนครราชสีมา ชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เกษตรอำเภอสูงเนิน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสูงเนิน องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ เป็นต้น
ข้อที่ 2 มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน อย่างแท้จริง เช่น การประกาศพื้นที่เสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม พื้นที่ดินทำกินในเขตป่าต้นน้ำลำธาร ที่มีความลาดเอียงตามภูมิประเทศของภูเขา สมควรให้มีมาตรการ ลด ละ เลิก การทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกำหนดวันสิ้นสุดการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวที่ชัดเจน และทำความเข้าใจระหว่างภาคส่วนของรัฐ และภาคประชาชนที่อยู่อาศัย เพื่อหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย และสามารถปฏิบัติได้จริง
ข้อที่ 3 สนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรที่ถูกต้อง และเหมาะสมในพื้นที่ดังกล่าว สนับสนุนและส่งเสริมอาชีพให้เกี่ยวข้องกับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพทางเลือก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ข้อที่ 4 ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุน และส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ บ้านดงมะไฟ (Dongmafai Model)
ในลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะแก่การมาเยือนของนักท่องเที่ยวและนักกีฬาออกกำลังกาย ได้มีการจัดวิ่งเพื่อสุขภาพตามภูมิประเทศ บ้านดงมะไฟเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพที่ดี เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ด้านการยุติความยากจน ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน (SDG 1) มีความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรม (SDG 2) ลดการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้น้อยลง โดยการส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยธรรมชาติในการเกษตร (SDG 3.9) ชุมชนบ้านดงมะไฟนี้สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG 4) ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีความเท่าเทียมกันในทุกเพศ ทุกวัย (SDG 5) สนับสนุนให้ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งต้นน้ำลำธารธรรมชาติ การทำนุบำรุง รักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ (SDG 6) มีการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ยั่งยืน มีการจ้างงาน ที่เหมาะสม (SDG 8) การเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน (SDG 9) สนับสนุน ส่งเสริมชุมชนปกป้องคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม (SDG 11.4) ชุมชนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติในการผลิตสินค้าทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและการบริโภคที่มีความยั่งยืนในอนาคต (SDG 12) ผู้คนในชุมชนช่วยกันปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศจัดการป่าไม้เพื่อลูกหลานรุ่นหลังที่มีทรัพยากรใช้สืบไป (SDG 15) บัญญัติ 10 ประการ ของหมู่บ้านดงมะไฟเป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ความสงบสุข ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมในทุกระดับ (SDG 16 ) พื้นที่แห่งนี้จึงก่อให้เกิดการรักษาป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนพื้นที่เขาเควสตา อุทยานธรณีโคราช ด้วยคำจำกัดความที่เรียบง่าย บวรส (นพดล 2565) ซึ่งประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน และสิ่งแวดล้อม
ชุมชนบ้านดงมะไฟ ได้มีแผนแม่บทชุมชนบัญญัติ 10 ประการบ้านดงมะไฟ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 (1 January 2005) ทั้งนี้จะเห็นว่าได้บัญญัติไว้ก่อนที่จะมีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาติเมื่อ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)
คำสำคัญ ธรรมชาติ, การเกษตร, บ้านดงมะไฟ, วัฒนธรรม, เขาเคสวตา, อุทยานธรณีโคราช